วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

แนวคิดในการการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม

จริยธรรม  คือ กฎเกณฑ์ความประพฤติของมนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นจากธรรมชาติของมนุษย์เอง  ความเป็นผู้มีปรีชาญาณ  (ปัญญา และ เหตุผล)  ทำให้มนุษย์มีมโนธรรม รู้จักแยกแยะความดี  ถูก  ผิด  ควร  ไม่ควร
จริยธรรมมีลักษณะ 4 ประการ คือ
1.       การตัดสินทางจริยธรรม(moral judgment) บุคคลจะมีหลักการของตนเอง เพื่อตัดสินการกระทำของผู้อื่น
2.       หลักการของจริยธรรมและการตัดสินตกลงใจเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในตัวบุคคลก่อนที่จะปฏิบัติการต่าง ๆ ลงไป
3.       หลักการทางจริยธรรมเป็นหลักการสากลที่บุคคลใช้ตัดสินใจในการกระทำสิ่งต่าง ๆ
4.       ทัศนะเกี่ยวกับจริยธรรมได้มาจากความคิดของบุคคลหรืออุดมคติของสังคมจนเกิดเป็นทัศนะในการดำรงชีวิตของตน และของสังคมที่ตนอาศัยอยู่
คุณธรรม  คือ หลักความจริง หลักการปฏิบัติ
1.  จริยธรรมมี  2  ความหมาย  คือ
1.1.   ความประพฤติดีงาม  เพื่อประโยชน์สุขแก่ตนและสังคม ซึ่งมีพื้นฐานมาจากหลักศีลธรรมทางศาสนา ค่านิยมทางวัฒนธรรม ประเพณี หลักกฎหมาย จรรยาบรรณวิชาชีพ
                              1.2.  การรู้จักไตร่ตรองว่าอะไรควร  ไม่ควรทำ
2.  จรรยา  (etiquette)  หมายถึง ความประพฤติ  กิริยาที่ควรประพฤติซึ่งสังคมแต่ละสังคม กำหนดขึ้นสอดคล้องกับวัฒนธรรม      ในแต่ละวิชาชีพก็อาจกำหนดบุคลิกภาพ  กิริยา  วาจาที่บุคคลในวิชาชีพพึงประพฤติปฏิบัติ  เช่น  ครู  แพทย์  พยาบาล  ย่อมเป็นผู้ที่พึงสำรวมในกิริยา  วาจา  ท่าทางที่แสดงออก
3.  จรรยาบรรณวิชาชีพ  (professional  code of  ethics)  หมายถึง ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงาน     แต่ละอย่างกำหนดขึ้น  เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณ ชื่อเสียงและฐานะของสมาชิก  ทำให้ได้รับความเชื่อถือจากสังคม อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้  เช่น  จรรยาบรรณของแพทย์ ก็คือ  ประมวลความประพฤติที่วงการแพทย์กำหนดขึ้น  เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้เป็นแพทย์ยึดถือปฏิบัติ
4.  ศีลธรรม (moral) คำว่า ศีลธรรมถ้าพิจารณาจากรากศัพท์ภาษาละติน Moralis หมายถึง  หลักความประพฤติที่ดีสำหรับบุคคลพึงปฏิบัติ ภาษาไทย ศีลธรรมเป็นศัพท์พระพุทธศาสนา  หมายถึง  ความประพฤติที่ดีที่ชอบหรือ ธรรมในระดับศีล
5.  คุณธรรม (virtue)  หมายถึงสภาพคุณงานความดีทางความประพฤติและจิตใจ เช่น  ความเป็นผู้ไม่กล่าวเท็จโดยหวังประโยชน์ส่วนตน เป็นคุณธรรมประการหนึ่ง  อาจกล่าวได้ว่าคุณธรรมคือจริยธรรมแต่ละข้อที่นำมาปฏิบัติจนเป็นนิสัย เช่น เป็นคนซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน    มีความรับผิดชอบ ฯลฯ               
6. มโนธรรม (conscience)  หมายถึงความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ความรู้สึกว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ นักจริยศาสตร์เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีมโนธรรม  เนื่องจากบางขณะเราจะเกิดความรู้สึกขัดแย้งในใจระหว่างความรู้สึกต้องการสิ่งหนึ่ง  และรู้ว่าควรทำอีกสิ่งหนึ่ง  เช่น  ต้องการไปดูภาพยนต์กับเพื่อน  แต่ก็รู้ว่าควรอยู่เป็นเพื่อน คุณแม่ซึ่งไม่ค่อยสบาย
7. มารยาท มรรยาท  กิริยา  วาจา  ที่สังคมกำหนดและยอมรับว่าเรียบร้อย   เช่น   สังคมไทยให้เกียรติเคารพผู้ใหญ่    ผู้น้อยย่อมสำรวมกิริยาเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้ใหญ่  การระมัดระวังคำพูดโดยใช้ให้เหมาะกับบุคคลตามกาลเทศะ
ทฤษฎีต้นไม้จริยธรรมสำหรับคนไทย
เป็นทฤษฎีทางจิตวิทยาทฤษฎีแรกของนักศึกษาไทยที่สร้างขึ้น บุคคลผู้รวบรวมเขียนเป็นทฤษฎี  คือ  ศาสตราจารย์  ดร.ดวงเดือน  พันธุมนาวิน  กรอบแนวคิดที่เป็นจุดเด่นของทฤษฎีนี้มีความว่า  ลักษณะพื้นฐานและองค์ประกอบทางจิตใจซึ่งจะนำไปสู่พฤติกรรมที่พึงปรารถนา  เพื่อส่งเสริมให้บุคคลเป็นคนดีและ คนเก่ง  ซึ่งได้ ทำการศึกษาวิจัยถึงสาเหตุพฤติกรรมของคนดีและคนเก่ง โดยได้ทำการประมวลผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา สาเหตุของพฤติกรรมต่าง ๆ ของคนไทยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อายุตั้งแต่ 6-60 ปี ว่าพฤติกรรมเหล่านั้น มีสาเหตุทางจิตใจอะไรบ้าง และได้นำมาประยุกต์เป็นทฤษฎีต้นไม้จริยธรรมสำหรับคนไทยขึ้น โดยแบ่งต้นไม้จริยธรรม ออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1.ส่วนที่หนึ่ง ได้แก่ ดอกและผลไม้บนต้น ที่แสดงถึงพฤติกรรมการทำดีละเว้นชั่วและพฤติกรรมการทำงานอย่างขยันขันแข็ง เพื่อส่วนรวม ซึ่งล้วนแต่เป็นพฤติกรรมของพลเมืองดี พฤติกรรมที่เอื้อเฟื้อต่อการพัฒนาประเทศ
2.ส่วนที่สอง ได้แก่  ส่วนลำต้นของต้นไม้ แสดงถึงพฤติกรรมการทำงานอาชีพอย่างขยันขันแข็ง ซึ่งประกอบด้วยจิตลักษณะ 5 ด้าน คือ
2.1      เหตุผลเชิงจริยธรรม
2.2      มุ่งอนาคตและการควบคุมตนเอง
2.3      ความเชื่ออำนาจในตน
2.4      แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์
2.5      ทัศนคติ คุณธรรมและค่านิยม
3.ส่วนที่สาม ได้แก่ รากของต้นไม้ ที่แสดงถึงพฤติกรรมการทำงานอาชีพอย่างขยันขันแข็งซึ่งประกอบด้วยจิตลักษณะ 3 ด้าน คือ
3.1            สติปัญญา
3.2            ประสบการณ์ทางสังคม
3.3            สุขภาพจิต
จิตลักษณะทั้งสามนี้อาจใช้เป็นสาเหตุของการพัฒนาจิตลักษณะ 5 ประการ ที่ลำต้นของต้นไม้ก็ได้ กล่าวคือ บุคคลจะต้องมีลักษณะพื้นฐานทางจิตใจ 3 ด้าน ในปริมาณที่สูงพอเหมาะกับอายุ จึงจะเป็นผู้ที่มีความพร้อมที่จะพัฒนาจิตลักษณะทั้ง 5 ประการ ที่ลำต้นของต้นไม้ โดยที่จิตลักษณะทั้ง 5 นี้ จะพัฒนาไปเองโดยอัตโนมัติ ถ้าบุคคลที่มีความพร้อมทางจิตใจ  3 ด้าน ดังกล่าวและอยู่ในสภาพแวดล้อมทางบ้าน ทางโรงเรียนและสังคมที่เหมาะสม นอกจากนั้นบุคคลยังมีความพร้อมที่จะรับการพัฒนาจิตลักษณะบางประการใน 5 ด้านนี้ โดยวิธีการอื่น ๆ ด้วย  ฉะนั้นจิตลักษณะพื้นฐาน 3 ประการ จึงเป็นสาเหตุของพฤติกรรมของคนดีและของคนเก่งนั่นเอง นอกจากนี้จิตลักษณะพื้นฐาน 3 ประการที่รากนี้อาจเป็นสาเหตุร่วมกับจิตลักษณะ 5 ประการที่ลำต้น
ทฤษฎี ต้นไม้จริยธรรมนี้ เกิดจากผลการวิจัยพฤติกรรมและจิตลักษณะของคนไทย โดยเมื่อสร้างขึ้นแล้วทฤษฎีนี้ก็ได้ชี้แนวทางการตั้งสมมติฐานการวิจัยเพื่อ หาหลักฐานใหม่ ๆ มาเพื่อเติมในทฤษฎีนี้อีก เช่น การวิจัยที่เกี่ยวกับจิตลักษณะพื้นฐาน 3 ประการ ที่สามารถจำแนกคนเป็น 4 ประเภท เหมือนบัวสี่เหล่า กับความสามารถในการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมของบุคคล โดยพบว่าคนที่เป็นบัวเหนือน้ำเท่านั้น (มีจิตลักษณะพื้นฐาน 3 ด้านนี้ในปริมาณสูงเหมาะสมกับอายุ) เป็นผู้ที่จะสามารถรับการพัฒนาเหตุผลเชิงจริยธรรมได้อย่างเหมาะสมกับอายุ ตามทฤษฎีของ Kohlberg
การสอน  "คุณธรรม/จริยธรรม"  เป็นความต้องการที่คนรุ่นหนึ่งจะชี้นำคนอีกรุ่นหนึ่ง  โดยผู้สอนมีความเชื่อว่าประสบการณ์ของตนอาจสร้างความเข้าใจเรื่อง  คุณธรรม/จริยธรรม  (หรือความดี  ความถูกต้อง  ความเหมาะสม)  อย่างถ่องแท้ในระดับหนึ่ง  และต้องการให้   เยาวชนเชื่อ  ดีและเหมาะสมกับเยาวชน การยึดหลักคุณธรรม/จริยธรรม  ทำให้มนุษย์มีความสุข  ความสวย  และความงาม  โดยที่ความสุขนั้นควรเป็นความสุขแบบเรียบง่ายและยั่งยืน

คุณสมบัติอันเป็นความพร้อมที่จะพัฒนา   จริยธรรมของบุคคลประกอบด้วย 
                1.  ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของชีวิตและหลัก จริยธรรม   ทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้มาตั้งแต่วัยต้นของชีวิตจากการเลี้ยงดู  การศึกษาอบรม  และจากประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน  โดยอาจเป็นในวิถีทางที่ต่างกัน  ซึ่งเป็นผลให้บุคคลมีพัฒนาการทางจริยธรรมต่างกัน  จากกฎเกณฑ์การตัดสินที่ต่างกัน
2.  ความใฝ่ธรรม  มนุษย์มีธรรมชาติ    ของการ แสวงหาความถูกต้องเป็นธรรมหรือความดีงามตั้งแต่วัยทารก  คุณสมบัตินี้ทำให้บุคคลนิยมคนดี  ชอบสังคมที่มีคุณธรรมจริยธรรม  ต้องการที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นคนดี
อย่างไรก็ตามประสบการณ์ในชีวิตจากการเลี้ยงดูและเจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมคุณธรรม  เป็นปัจจัยสำคัญให้บุคคลพร้อมที่จะพัฒนาตนเองให้มีจริยธรรมสูงกว่า
3.  ความรู้จักตนเองของบุคคลนั้น
                ความรู้จักตนเองของบุคคล  คือ   สร้างความสามารถในการพิจารณาให้รู้อิทธิพลของความดีและความไม่ดีของตนให้ชัดเจน   ซึ่งจะช่วยให้บุคคลสามารถเสริมสร้างความดีของตนให้มีพลังเข็มแข็ง    ในลักษณะที่ตนเองและสังคมยอมรับได้  ความรู้จักตนเองนี้จะทำให้บุคคลมีความมั่นใจ มีพลังและพร้อมที่จะขจัดความไม่ดีของตนและพัฒนาตนเองอย่างถูกต้องดีขึ้น

วิถีทางพัฒนาจริยธรรม
 1.  การศึกษาเรียนรู้ กระทำได้หลายวิธี  ดังนี้
                1.1  การศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง  ด้วยการหาความ  รู้จากการอ่านหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาศาสนา   วรรณคดีที่มีคุณค่า    หนังสือเกี่ยวกับจริยธรรมทั่วไปและ จริยธรรมวิชาชีพ
                1.2  การเข้าร่วมประชุมสัมมนา  เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรม  และการคบหาบัณฑิตผู้ใส่ใจด้าน      จริยธรรม
1.3   การเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตและจากประสบการณ์ในสถานที่ปฏิบัติงาน
ประสบการณ์จริงเป็นโอกาสอันประเสริฐในการเรียนรู้จริยธรรมแห่งชีวิต  ที่ช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้งทั้งด้านเจตคติและทักษะการแก้ปัญหาเชิง จริยธรรม  อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับความพร้อมของบุคคล  ผู้มีความพร้อมน้อยอาจจะไม่ได้ประโยชน์จากการเรียนรู้อันมีค่านี้เลย
2.  การวิเคราะห์ตนเอง  บุคคลผู้มีความพร้อมจะพัฒนามีความตั้งใจและเห็นความสำคัญของการวิเคราะห์ตนเองเพื่อทำความรู้จักในตัวตนเอง  ด้วยการพิจารณาเกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมการแสดงออกของตนเอง  จะช่วยให้บุคคลตระหนักรู้คุณลักษณะของตนเอง  รู้จุดดีจุดด้อยของตน   รู้ว่าควรคงลักษณะใดไว้
การวิเคราะห์ตนเอง  กระทำได้ด้วยหลักการต่อไปนี้
2.1   การรับฟังความคิดเห็นเชิงวิพากษ์จากคำพูดและอากัปกิริยาจากบุคคลรอบข้าง  เช่น   จากผู้บังคับบัญชา  จากเพื่อนร่วมงาน   จากผู้ใกล้ชิดหรือบุคคลในครอบครัว
2.2  วิเคราะห์ตนเองเกี่ยวกับความคิด  ความต้องการเจตคติการกระทำ   และผลการกระทำ   ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
2.3  ค้นหาความรู้จากแหล่งความรู้ต่าง ๆ   เช่น   จากตำรา  บทความ  รายงานการวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์หรือศาสตร์อื่น ๆ    ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์และพัฒนาตน               อย่างถ่องแท้
2.4  เข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาจิตใจ  (จิตใจและพฤติกรรมมนุษย์เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้เช่นเดียวกับสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก)  ทำให้จิตใจได้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดปัญญารับรู้ตนเองอย่างลึกซึ้งและแท้จริง
                          3.   การฝึกตน เป็นวิธีการพัฒนาด้าน   คุณธรรมจริยธรรมด้วย ตนเองขั้นสูงสุด   เพราะเป็นการพัฒนาความสามารถของบุคคล   ในการ   ควบคุมการประพฤติปฏิบัติของตนให้อยู่ในกรอบของพฤติกรรมที่พึงปรารถนาของสังคม  ทั้งในสภาพการณ์ปกติและเมื่อเผชิญปัญหาหรือขัดแย้ง
การฝึกตน  เป็นวิธีการพัฒนาด้าน    คุณธรรม  จริยธรรมด้วยตนเองขั้นสูงสุด    เพราะเป็นการพัฒนาความสามารถของบุคคล  ในการควบคุมการประพฤติปฏิบัติของตนให้อยู่ในกรอบของพฤติกรรมที่พึงปรารถนาของสังคม  ทั้งในสภาพการณ์ปกติและเมื่อเผชิญปัญหาหรือขัดแย้ง
3.1  การฝึกวินัยขั้นพื้นฐาน  เช่น  ความขยันหมั่นเพียร  การพึ่งตนเอง  ความตรงต่อเวลา  ความรับผิดชอบ  การรู้จักประหยัดและออม   ความซื่อสัตย์  ความมี สัมมาคารวะ    ความรักชาติฯ
3.2  การรักษาศีลตามความเชื่อในศาสนาของตน  ศีลเป็นตัวกำหนดที่จะทำให้งดเว้นในการที่จะกระทำชั่วร้ายใด ๆ  อยู่ในจิตใจ  ส่งผลให้บุคคลมีพลังจิตที่เข้มแข็งรู้เท่าทันความคิดสามารถควบคุมตนได้ 
3.3   การทำสมาธ  เป็นการฝึกให้เกิดการตั้งมั่นของจิตใจทำให้เกิดภาวะมีอารมณ์หนึ่งเดียวของกุศลจิต   เป็นจิตใจที่สงบผ่องใสบริสุทธิ์เป็นจิตที่เข้มแข็ง  มั่นคง   แน่วแน่    ทำให้เกิดปัญญาสามารถพิจารณาเห็นทุกอย่างตรงสภาพความเป็นจริง
3.4  ฝึกการเป็นผู้ให  เช่น  การรู้จัก ให้อภัย  รู้จักแบ่งปันความรู้   ความดีความชอบ   บริจาคเพื่อสาธารณะประโยชน์   อุทิศแรงกายแรงใจช่วยงานสาธารณะประโยชน์โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ
สรุปได้ว่า  การพัฒนาจริยธรรมด้วยวิธีพัฒนาตนเองตามขั้นตอนดังกล่าว  เป็นธรรมภาระที่บุคคลสามารถปฏิบัติได้ควบคู่กับการดำเนินชีวิตประจำวัน  แต่มิใช่เป็นการกระทำในลักษณะเสร็จสิ้น  ต้องกระทำอย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัย  เพราะจิตใจของมนุษย์เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา  เฉกเช่น   กระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ขอบคุณ http://life-education.exteen.com/20081124/entry

แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมประชาธิปไตย


Michael L. Gross เขียนไว้ใน Ethics and Activism: The Theory and Practice of Political Morality  เขามีความเชื่อว่า ความมั่นคงของประชาธิปไตยสมัยใหม่มีพื้นฐานอยู่บนจริยธรรมและการดำเนินการ ของจิต เมื่อรัฐทำผิดพลาด มันขึ้นอยู่กับการดำเนินการแก้ไขโดยพลเมืองที่ใช้อารมณ์ความรู้สึกเชิง ศีลธรรมจรรยานำพวกเขาไปสู่การรู้และแก้ไขความผิด แต่ความรู้สึกเชิงศิลธรรมจรรยาที่ว่านี้ยังคงมีปัญหาที่การตีความ
วรรณกรรม ด้านประชาธิปไตยและจริยธรรมของนักทฤษฎีการเมืองสมัยคลาสสิกสามารถจำแนกได้ เป็น  2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นกลุ่มจริยธรรมทางการเมืองที่อ่อนแอซึ่งพบได้ในงานของ Tocqueville, Truman, Dahl,และ Madison  นักทฤษฎีเหล่านี้เน้นแนวความคิดที่อ่อนแอของคุณลักษณะประชาธิปไตย การให้เหตุผลเชิงจริยธรรมกระตุ้นสิ่งที่มีอยู่ในใจคนเกี่ยวกับความสุข ไม่ใช่ความชัดเจนของกฎธรรมชาติ การตัดสินทางจริยธรรมถูกสอนให้ยึดมั่นในความห่วงใยต่อท้องถิ่น และการจัดการที่มีประสิทธิภาพต่อการเมืองที่เห็นแก่พวกพ้อง ไม่ใช่ห่วงใยต่อหลักการสากลของความยุติธรรมหรือความดีที่ยึดมั่นร่วมกัน จริง ๆ แล้ว จริยธรรมทางการเมืองที่อ่อนแอก็มองหาจุดสมดุลระหว่างพฤติกรรมที่เห็นแก่พวก พ้อง และความดีที่ยึดมั่นร่วมกันอยู่เหมือนกันโดยเน้นที่ความจงรักภักดีต่อกลุ่ม และความเคารพกฏของเกม พลเมืองต้องได้รับความคุ้มครองสิทธิพื้นฐาน และต้องมีความเห็นอกเห็นใจเท่าที่จำเป็นและมีการตัดสินเชิงจริยธรรมอย่าง ระมัดระวัง
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มจริยธรรมทางการเมืองแบบเข้มแข็ง พบได้ในงานของ John Stuart Mill, John Rawls, Jurgen Habermas, และ John Dewey  นักทฤษฎีเหล่านี้เน้นว่า ความยุติธรรมต้องเป็นหลักการอันดับแรกของการเมือง พวกเขานิยามความยุติธรรมโดยใช้คำที่แตกต่างกันออกไป เช่น ผลประโยชน์ ความเป็นธรรม หรือการบรรยายเชิงจริยธรรม  แต่แนวความคิดหลักก็คือ ความยุติธรรม คำเหล่านี้ถูกใช้ในการออกแบบเพื่อบูชาหลักการพื้นฐานของความเป็นอิสระ ความมีเกียรติ และความเป็นปัจเจก   นักทฤษฎีกลุ่มนี้เห็นว่า  การกระทำทางการเมืองในฐานะผลผลิตของความจำเป็น ในประวัติศาสตร์  แต่วัตถุประสงค์ของการกระทำนั้นไม่แตกต่างกัน นั่นคือ การปกป้องความยุติธรรม เพียงแต่รูปแบบอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างในช่วงเวลาต่าง ๆ สำหรับนักปรัชญาแต่ละคน นักกิจกรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่ปกป้องความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางจริยธรรมของ ประชาธิปไตย คุ้มครองอิสรภาพทางการเมืองของพวกเรา   และเราไว้วางใจให้เขาใช้จุดยืนทางจริยธรรมที่กำหนดไว้ในการดำเนินกิจกรรม เมื่อหลักการทางจริยธรรมที่สำคัญถูกละเมิด
Gross เห็นว่า การมีจริยธรรมทางการเมืองที่เข้มแข็ง ต้องการคนที่ถูกกำหนดให้มีบทบาทไปกระทำกิจกรรมการเมืองโดยมุ่งให้เกิดความ ยุติธรรมทางสังคม ความเท่าเทียมกัน และศักดิ์ศรีของมนุษย์   งานที่เกี่ยวข้องต้องถูกกำหนดไว้ในหน้าที่ ความเป็นธรรม และหลักการที่เห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นเป็นที่ตั้ง  เขาต้องช่ำชองอย่างมีจริยธรรม และมีทรรศนะชัดเจนเกี่ยวกับหลักการทางจริยธรรม   หมายความว่า พวกนี้จะต้องเป็นอิสระจากผลประโยชน์ของการแบ่งพรรคแบ่งพวก  เป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมือง และระมัดระวังอย่างเต็มที่เกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการเมือง
แต่เมื่อ Gross ทำการวิจัย 3 กรณีศึกษา เขาพบว่า ปัจเจกบุคคลที่มีความสามารถทางการเมืองมากที่สุดส่วนมากเป็นผู้ที่มีความ สามารถทางจริยธรรมน้อยที่สุด และเมื่อเขาศึกษานักกิจกรรมทางการเมืองกรณีผู้ช่วยเหลือพวกยิวให้รอดจากการ ล้างเผ่าพันธุ์โดยนาซี ผู้เข้าร่วมขบวนการต่อต้านการทำแท้งในอเมริกา  และขบวนการเรียกร้องความสันติในอิสราเอล  เขาพบว่า มันไม่ใช่เรื่องของคนที่มีศีลธรรมจรรยาสูง แต่คนที่มีความบริสุทธิ์ใจหรือไม่มีเล่ห์เหลี่ยมทางศีลธรรม จรรยาต่างหากที่แสดงให้ปรากฏถึงความสามารถทางการเมือง
คุณธรรมและจริยธรรมระดับบุคคลในสังคมประชาธิปไตย
คุณธรรม และจริยธรรมระดับบุคคล หมายถึง สภาพคุณงามความดีที่เป็นประโยชน์ของปัจเจกบุคคล แนวคิดเกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรมระดับบุคคล มีผู้จำแนกบุคคลออกไปตามสถานภาพในสังคม เช่น ในฐานะเป็นสมาชิกรัฐ และในฐานะผู้นำหรือผู้ปกครองรัฐ การมีคุณธรรมและจริยธรรมระดับบุคคล มีความสำคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากหลักการอิสระภาพ เสรีภาพ และความเสมอภาพของประชาธิปไตยมีความเสี่ยงต่อ การทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ถ้าสมาชิกในสังคมขาดคุณธรรม
คุณธรรมและจริยธรรมระดับบุคคลในสังคมประชาธิปไตย จำแนกออกเป็นสองส่วน คือ การมีคุณสมบัติของมนุษย์ที่ดี และ การเป็นประชาชนที่ดีในสังคมประชาธิปไตย ในส่วนแรก จะได้นำเสนอคุณสมบัติร่วมของนานาศาสนาที่กล่าวถึงความดีที่พึงมีในตัวบุคคล อาทิ ความซื่อสัตย์ การทำความดี ความเมตตา การยึดมั่นในหลักธรรม ในส่วนที่สองจะได้นำเสนอ คุณสมบัติร่วมของสังคมที่คาดหวังในตัวบุคคล เช่น การทำตามกฎกติกาของสังคม การไม่ละเมิดกฎหมาย การไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม การมีสัมมาชีวะ เป็นต้น
การ เป็นประชาชนที่ดีในสังคมประชาธิปไตย จะได้ชี้ให้เห็นลักษณะเฉพาะของสังคมประชาธิปไตยที่เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับ ประชาชน ที่ต้องมีคุณธรรมจริยธรรมแตกต่างไปจากสังคมในระบอบการปกครองอื่น ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นคุณลักษณะทางจิตของบุคคล ต้องสอดคล้องกับการพิทักษ์ความเป็นอิสระภาพ เสรีภาพ และเสมอภาพของตนเองไปพร้อมกับการเคารพในอิสระภาพ เสรีภาพ และเสมอภาพของคนอื่นด้วย ได้แก่ การเคารพในสิทธิศักดิ์ศรีของมนุษย์โดยเท่าเทียมกัน การยอมรับความแตกต่างทางความคิด ความเคารพสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นของผู้อื่น การตระหนักและแสดงความรับผิดชอบต่อสาธารณะ การตระหนักในหน้าที่ของพลเมืองที่มีต่อส่วนรวม การเห็นแก่ประโยชน์สาธารณะมากกว่าประโยชน์ส่วนบุคคล เพราะหากบุคคลคำนึงถึงแต่สิทธิเสรีภาพของตนเองโดยไม่สนใจสิทธิเสรีภาพของคน อื่น ก็จะมีความเห็นแก่ตัวยิ่งถ้ามีพัฒนาการขึ้นเป็นผู้ปกครองก็จะกลายเป็นผู้ ปกครองที่เผด็จการณ์
การมีคุณสมบัติของมนุษย์ที่ดี
  1. การยึดและปฏิบัติตามหลักศาสนา 
  2. การเป็นคนดีในสังคม
การเป็นประชาชนที่ดีในสังคมประชาธิปไตย
  1. การเคารพในสิทธิศักดิ์ศรีของมนุษย์โดยเท่าเทียมกัน
  2. การยอมรับความแตกต่างทางความคิด
  3. ความเคารพสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นของผู้อื่น
  4. การตระหนักและแสดงความรับผิดชอบต่อสาธารณะ
  5. การตระหนักในหน้าที่ของพลเมืองที่มีต่อส่วนรวม
  6. การเห็นแก่ประโยชน์สาธารณะมากกว่าประโยชน์ส่วนบุคคล
คุณธรรมและจริยธรรมของบุคคลที่มีต่อสังคมในสังคมประชาธิปไตย 
คุณธรรมและจริยธรรมของบุคคลที่พึงมีต่อสังคม หมายถึงการมีคุณงามความดีในการทำหน้าที่พลเมืองของสังคมประชาธิปไตย ความสำคัญของประเด็นนี้อยู่ที่การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ดี ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับการมีผู้ปกครองที่ดีมีคุณธรรม การทำหน้าที่ให้บริการประชาชน บำบัดทุกข์บำรุงสุข ให้กับประชาชน เท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับ การทำหน้าที่ต่อประเทศชาติของประชาชนด้วย
คุณธรรมและจริยธรรมของบุคคลที่มีต่อสังคมในสังคมประชาธิปไตย ประกอบด้วย การมีรูปแบบความคิดสร้างสรรค์ทางบวกในการแสดงบทบาทอย่างแข็งขันในการร่วม พัฒนา และแก้ไขปัญหาของสังคมด้านต่าง ๆ เช่น
  1. การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจประเด็นสาธารณะอย่างแข็งขัน
  2. การมีส่วนร่วมในการกระทำเพื่อส่วนรวมด้วยความเต็มใจ
  3. การสนับสนุนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน
  4. การปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของบ้านเมือง/เคารพในกฎกติกาของสังคม
  5. การติดตามตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารและหน่วยงานของรัฐ
ทั้งนี้การมีบทบาทดังกล่าวหากทำด้วยความไม่มีคุณธรรมจริยธรรม ก็ก่อให้เกิดความวุ่นวายเดือนร้อนและทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม จนถึงการล้มล้างระบบการเมืองการปกครอง กลายเป็นอนาธิปไตยแทนประชาธิปไตยได้ ในบางกรณีก็อาจกลายเป็นเครื่องมือของคนที่ไม่หวังดีต่อประเทศชาติ
คุณธรรมและจริยธรรมของนักพัฒนาในสังคมประชาธิปไตย
คุณธรรม และจริยธรรมของนักพัฒนา หมายถึง จริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพของนักพัฒนาที่ดี และการดำรงตนในสังคมอย่างนักพัฒนาที่ดี มีความสำคัญต่อการพัฒนา และรักษาดำรงไว้ซึ่งระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของบ้านเมือง อาจถือได้ว่าเป็นจรรยาบรรณ หรือมาตรฐานวิชาชีพของนักพัฒนาก็ได้
จริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพของนักพัฒนาที่ดี และการดำรงตนในสังคมอย่างนักพัฒนาที่ดี ประกอบด้วย
  1. ความรับผิดชอบในการนำความรู้ไปใช้ในทางการเมืองการปกครอง
  2. เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแก่สังคม
  3. ความสุจริตในการแสดงความคิดเห็นต่อระบบการเมืองการปกครองและสังคม
  4. ปกป้องหลักการอิสระภาพ เสรีภาพ และความเสมอภาค
  5. ปกป้องการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
  6. สนับสนุนและปกป้องการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
  7. ต่อต้านการใช้อำนาจการเมืองการปกครองในทางที่ผิดและเสียหายต่อประเทศชาติ 
 ขอขอบคุณ http://www.dmsc.moph.go.th/cleangov/knowledge/Ethics.stm